Tuesday, August 8, 2017

ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ




ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ



        เมื่อได้เห็นข้อความจากสื่อข้างต้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอยู่ ๒ เรื่อง



        เรื่องที่ ๑ อาจารย์ของผู้เขียน เคยถามผู้เขียนว่า

        “ยูรู้ไหม การเป็นผู้นำ ต้องมีความชำนาญในวิชาอะไร”

        ผู้เขียนรีบตอบทันทีว่า “ต้องวิชาเกี่ยวกับการปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ครับ”

        อาจารย์ท่านส่ายหน้า แล้วเฉลยว่า “ที่ว่ามาไม่ใช่หรอก ผู้นำต้องแตกฉานในวิชาอักษรศาสตร์”

ในตอนนั้น ผู้เขียนก็มัวแต่คิด พิจารณาแล้วก็สงสัยว่า ทำไมต้องเป็นอักษรศาสตร์



        เรื่องที่ ๒ ผู้เขียนนึกถึงนิทานจีนเรื่อง “ต่างยอมรับผิด” ซึ่งเป็นตัวอย่างของครอบครัวหรือสังคมที่จะทำให้เกิดความสุขได้ เรื่องย่อ ๆ ก็มีว่า มีครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสะใภ้ และสุนัขอีกหนึ่งตัว 
        วันหนึ่งแม่ป่วย เลยนอนพัก ลูกสะใภ้ก็ต้มน้ำแกงอย่างดี นำมาให้ แต่พอเห็นแม่สามีหลับอยู่ ก็เลยวางไว้ข้างเตียง มาดูอีกทีปรากฎว่า สุนัชช่วยจัดการหมดชามเรียบร้อย ก็เลยเสียใจ ร้องไห้ เมื่อแม่ตื่นขึ้นมา ก็สงสัยว่าร้องไห้ทำไม ลูกสะใภ้ก็ตอบว่า เป็นความผิดของตนเองที่ไม่ได้เก็บให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขมากินน้ำแกงหมด 
        พอแม่ทราบเรื่องแทนที่จะโทษลูกสะใภ้เหมือนในนิยายน้ำเน่าทั้งหลาย กลับบอกว่า เป็นความผิดของตนเองที่มัวแต่หลับ ไม่งั้นก็ได้กินน้ำแกงอร่อย ๆ แล้ว 
        ในขณะที่กำลังคุยกันอยู่ พ่อก็กลับมา พอทราบเรื่องก็บอกว่า เป็นความผิดของตน ที่ไม่ได้ปิดประตูให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขเข้ามาในบ้านได้ 
        ฝ่ายลูกชายมาถึงล่าสุด ก็กล่าวว่า เป็นความผิดของเขาเองต่างหากเพราะปกติแล้ว เวลาไปนอกบ้านจะเอาสุนัขตัวนี้ไปด้วย


        ที่ผู้เขียนนึกถึงเรื่องทั้งสองนี้ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของท่านผู้นำประเทศ 

        ในประเด็นแรก การเป็นผู้นำต้องเชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ ก็เพราะคนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ จะต้องสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน จะต้องเป็นนักสร้างกำลังใจ พูดแล้วทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความกระตือรือล้นที่จะให้ความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาประเทศชาติ มิฉะนั้น พอออกทีวีรายการไหนก็จะถึงเวลาที่ชาวบ้านพร้อมใจกันประหยัดไฟ โดยการปิดทีวีโดยไม่ต้องนัดหมายกัน

        ส่วนประเด็นที่สอง การเป็นผู้นำต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ อย่าปัดให้เป็นเรื่องของผู้อื่น หากจะบอกว่า คนอื่นไม่ให้ความร่วมมือ นั่นยิ่งต้องกลับมาทบทวนว่า ทำไมเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือ เรายังมีข้อบกพร่องอะไร ตรงไหนในการทำงาน หากมัวแต่ไปโทษคนอื่น รับรองว่าจะไม่มีทางที่จะคิดแก้ไขตนเอง ผลที่ตามมาก็คือ อารมณ์เสียทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

        ผู้เขียนจึงได้บทเรียนสอนตนเองว่า หากคิดจะเป็นผู้นำในภายภาคหน้า จะต้องฝึกเรื่องการสื่อสารให้ดี รวมทั้งหัดโทษตนเองเพื่อนำมาสู่การแก้ไขตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้น นอกจากตัวเองจะไม่มีการพัฒนาแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะพลอยถอยหลังเข้าคลองไปด้วย

        จริงไหมครับ ท่านผู้นำ






อนาคาริก
08/08/17

7 comments:

  1. จริงแสนจริง จริงล้านจริงเลยครับท่านพี่

    ReplyDelete
  2. จริงครับผม จับผิดตัวเอง ดีกว่าไปจับผิดคนอื่นครับ

    ReplyDelete
  3. พรครูเขียนเก่งจัง ให้ข้อคิดดีมาก

    ReplyDelete
  4. กราบอนุโมทนาบุญเจ้าค่ะ อ่านแล้ว ทำให้รู้สึก ว่าคุณธรรมนั้น ยังคงมีอยู่ขอเพียงให้เราศึกษาและปฏิบัติตามค่ะ

    ReplyDelete
  5. ผู้นำของไทยขาด สมองศาตร์ รว่มกับ วาทศาตร์ จนสมองและวาจาเสื่อม

    ReplyDelete
  6. คนดีชอบแก้ไข คน(อะไร)ชอบแก้ตัว

    ReplyDelete
  7. ท่านผู้นำ จะได้อ่านบทความนี้ไหมนี่ หรือเอาแต่ฟังจากขันทีรอบข้างเพ็ดทูลแต่ความเก่งกล้าสามารถเชาว์ปัญญาของท่านผู้นำ

    ReplyDelete