Wednesday, June 28, 2017

พระควรจับเงินหรือไม่?



พระควรจับเงินหรือไม่?


        ยังเป็นกระแสที่พูดกันอย่างต่อเนื่องเรื่องควรถวายปัจจัยพระภิกษุหรือไม่?

        ก่อนที่ผู้เขียนจะฟันธงว่าควรหรือไม่ควร ก็คงต้องขอให้ผู้อ่านย้อนกลับไปดูความเป็นอยู่หรือสภาพสังคมในสมัยก่อน


        เดิมนั้นสังคมไทย เป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สังคมก็เป็นสังคมใหญ่ ในครอบครัวมีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูกหรือหลาน ในครอบครัวก็มีการสอนเรื่องคุณธรรมศีลธรรมผ่านผู้ใหญ่ไปถึงลูกหลาน นอกจากนั้นเด็ก ๆ ก็จะถูกฝึกให้มีความผูกพันกับพระกับวัด โดยการบวชเรียนบ้าง ไปคอยรับใช้พระบ้าง


        สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เป็นบ้านของคุณย่าในต่างจังหวัด ความเจริญทางวัตถุยังเข้าไปไม่ถึง แต่กลับเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขมาก เพราะไม่มีเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาจัดการ หากมีเรื่องอะไรก็พากันไปที่วัด ให้ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้ตัดสิน ใครผิดเจ้าอาวาสเฆี่ยนเอง ภาพของพระภิกษุ จึงเป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็เคารพ เวลาท่านเอ่ยปากอะไร จึงเหมือนกับมีวาจาสิทธิ์ แค่บอกญาติโยมว่า ต้องมาฟังธรรม มารักษาศีล ในวันพระ ผู้คนทั้งหมู่บ้านก็แห่กันมาพร้อมหน้าพร้อมตา เรื่องของปัจจัย 4 จึงไม่ขาดแคลน


        แม้แต่การเดินทางสมัยนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทอง เพราะไปไหนก็ไปด้วยเกวียน ยิ่งสมัยพุทธกาล พระภิกษุจะไปไหน หากไม่เดินก็อาศัยการไปกับพ่อค้า กองเกวียนต่าง ๆ

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สภาพสังคมยุคนั้น พระภิกษุไม่มีความจำเป็นที่ต้องจับต้องเงินทองเลย


        แต่เมื่อมองสังคมในปัจจุบันที่กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผู้คนถูกกันให้ห่างออกไปจากวัดโดยหน้าที่การงาน รวมทั้งวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้นอกจากจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะฟังธรรม ปฏิบัติธรรมแล้ว โอกาสในการที่จะมาถวายความเอาใจใส่พระภิกษุเหมือนเมื่อก่อนจึงไม่มีอีกต่อไป จึงทำให้พระภิกษุต้องขวนขวายในการหาปัจจัย 4 เพื่อรักษาวัด รักษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง จึงเป็นการยากในการที่จะหลีกเลี่ยงการจับเงินจับทอง



        โดยสรุป หากเราไม่ต้องการเห็นพระจับเงิน ชาวพุทธก็ต้องสร้างสังคมให้เอื้อกับท่าน ก็ต้องถามว่า เราพร้อมหรือไม่ที่จะปวารณาต่อท่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

- ชาวพุทธทุกคนต้องพร้อมใจกันตักบาตรกันตอนเช้า

- ชาวพุทธทุกคนต้องรักษาศีล 5 เป็นปกติ และรักษาศีล 8 ในวันพระ

- หากพระภิกษุมีกิจธุระจะเดินทางไปไหนทั้งในและต่างประเทศ ยานพาหนะทุกประเภทจะต้องไม่เก็บค่าโดยสาร(คงไม่มีแทกซี่คันไหนที่รับพระแล้วต้องการเพียงแค่คำว่า "อนุโมทนาบุญนะโยม")

- หากพระภิกษุเดินทางไปไหนก็ตาม แล้วได้เวลาฉันเพล ร้านอาหารทุกร้านจะต้องไม่เก็บค่าอาหาร

- หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง วัดวาอาราม ร้านค้าวัสดุอุปกรณ์ ต้องไม่คิดเงิน

- หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ต้องไม่เก็บเงินค่าน้ำ ค่าไฟ
 
- กรมการศาสนาจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ต้องมีเงินทอน ให้พอกับความต้องการ จะได้ไม่ต้องมาโดนตรวจสอบเรื่องการเรี่ยไร

ฯลฯ

- ที่สำคัญหากพระภิกษุขอว่า เจ้าหน้าที่ผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ขอให้มีศีล 5 บริสุทธิ์ ไม่มีประวัติด่างพร้อย มาเพื่อทำหน้าที่สนับสนุน ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาจริง ๆ ไม่ใช่ประเภทรับงานมาทำลายพระพุทธศาสนา อย่างนี้จะได้หรือไม่?

       ผู้เขียนคิดว่า หากชาวพุทธทั้งมวลตอบว่า “ได้” ก็คงจะไม่เป็นเรื่องยากที่จะให้พระภิกษุท่านไม่จับเงินจับทอง จริงไหมครับ?






อนาคาริก
06/28/17

Saturday, June 24, 2017

เพราะพระหลอกง่ายใช่ไหมโยม?



เพราะพระหลอกง่ายใช่ไหมโยม?

        ในช่วงนี้มักจะเห็นข่าวเกี่ยวกับพระในเชิงลบออกมาบ่อย ๆ และหากสังเกตให้ดี จะเป็นช่วงใกล้เข้าพรรษาของทุกปี ก็ไม่อยากจะคิดมากว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่(แต่ก็อดคิดไม่ได้แหละ)

        ไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวที่ออกตามสื่อต่าง ๆ เป็นไปในทำนองว่า ต้องมีการเข้ามาจัดการกับทรัพย์สินของวัด มีการขานรับกันทั้งหน่วยงานของรัฐและผู้หวังดี(หรือปล่าว)



        ผู้เขียนเคยสนทนากับพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านบอกว่า “พระคือ ผู้ที่หลอกง่ายที่สุด” เมื่อได้ยินในตอนนั้นผู้เขียนก็ได้แต่รับฟัง เพราะนึกว่าท่านพูดขำ ๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็น ๑๐ ปี มาเข้าใจแจ่มแจ้งถึงบางอ้อ เอาวันนี้

        โถ ก็พระผู้เฒ่า หลวงปู่ หลวงตาทั้งหลาย ตามต่างจังหวัด ส่วนมากท่านก็บวชมาตั้งแต่เป็นเณร ด้วยคุณธรรมความดี ทำให้เป็นที่ยอมรับจนได้เป็นเจ้าอาวาส แล้วเป้าหมายของการบวชของท่านก็เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ไม่ได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกิเลสมนุษย์ เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่า “หลวงปู่ หลวงตา ผมจะช่วยหาเงินมาปรับปรุงวัด เอาว่า ผมจะหามาให้สัก ๑๐ ล้าน แต่มันมีค่าดำเนินการราว ๘ ล้าน หลวงปู่ หลวงตา จะว่าไง” แหม นั่งอยู่เฉย ๆ มีคนมาเสนอถึงที่ แล้วได้ตั้ง ๒ ล้าน ท่านก็ต้องเอาสิ แล้วผลเป็นไง กลายเป็นว่า พระผิดซะนี่ แถมหาเหตุจะเข้ามาจัดการทรัพย์สินวัดซะด้วย แทนที่จะไปหาเหตุว่า ต้นตอแห่งความผิดอยู่ที่ไหน แล้วไปยกเครื่องปรับปรุงที่หน่วยงานที่ทุจริตนั้น ๆ 
         อย่างว่าแหละ “พระคือผู้ที่ถูกหลอกง่ายที่สุด”



        ความจริงเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว พระก็เคยถูกหลอกให้เสียท่ามาจนถึงทุกวันนี้ จะอะไรหล่ะ หากไม่ใช่ ถูกใครก็ไม่รู้ หลอกให้ดีใจว่า “เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน” ฟังดูก็โก้ดี แต่ที่ไหนได้ ตำแหน่งเจ้าพนักงานดังกล่าว เอาไว้สำหรับติดคุกโดยเฉพาะ เพราะหากเจ้าอาวาสทำอะไรผิดแทนที่จะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ กลายเป็นมีความผิดตาม ม. ๑๕๗ คือ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพร้อมจะถูกจับสึกได้ตลอดเวลา

        นี่ดีนะ ที่เจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่ง รู้เท่าทันไม่ยอมรับการยัดเยียดข้อหา เพียงแค่การรับประเคนจากญาติโยม จะให้ผิดทั้งฟอกเงิน รับของโจร มิฉะนั้น ป่านนี้พระทั้งแผ่นดิน คงได้โดนข้อหาดังกล่าวกันอย่างถ้วนทั่ว

        แหม ยังไม่ทันตาย ก็หลอกพระซะแล้วนะโยม






อนาคาริก
06/24/17



Tuesday, June 20, 2017

ต้องทำให้ถูกหน้าที่



ต้องทำให้ถูกหน้าที่


        สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเรามีคุณค่าก็คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เช่น เป็นครู ก็มีหน้าที่ในการอบรมสั่้งสอนศิษย์ เป็นตำรวจก็มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบให้ราษฎร เป็นทหารก็มีหน้าที่เป็นรั้วของชาติ คอยป้องกันไม่ให้ใครมารุกราน เป็นต้น

        หากเมื่อไรก็ตามที่ทำผิดหน้าที่ย่อมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน ดังที่เราเห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อในโซเชียลต่าง ๆ



        การที่ใครจะทำอะไรให้ถูกหน้าที่ได้ หัวใจก็คือความเข้าใจภาระงานในหน้าที่ของตนอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของความศรัทธา เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน

        ในอดีตที่ผ่านมาผู้ที่ทำหน้าที่ในจุดนี้ จะมีความเข้าใจในเนื้องานเป็นอย่างดี เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นอดีตพระหรือเคยบวชเรียนมาก่อน ทำให้มีความเคารพในพระรัตนตรัย จึงได้ทำตัวเสมือนลูกศิษย์พระหรือเด็กวัด เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะวิ่งเข้าหาพระผู้ใหญ่ คอยสอบถาม ขอคำแนะนำ เพราะตระหนักดีว่า กว่าท่านเหล่านั้นจะก้าวมาถึงการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมได้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวมามากมาย


       ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับผ.อ.สำนักพุทธคนปัจจุบัน ที่ท่านก้าวข้ามห้วยมาจากหน่วยงานดีเอสไอ ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานพระพุทธศาสนา ส่วนว่าสาเหตุที่ย้ายมาเพราะอะไรก็คงจะรู้ ๆ กันอยู่

       แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เมื่อต้องมาทำหน้าที่ ก็ต้องทำให้ถูกหน้าที่ คือ เข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการทำงาน หากสงสัยอะไรก็ควรจะได้สอบถามพระผู้ใหญ่ อย่าเพิ่งรีบด่วนให้ข่าวหรือออกสื่อไปก่อน เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งตนเองและพระพุทธศาสนาได้

       เพราะสมมุติว่ามีเจตนาดีแต่ผิดวิธีก็อาจจะทำให้เกิดผลเชิงลบได้นะครับ
ท่าน




อนาคาริก
06/20/17

Monday, June 19, 2017

หวั่นเยาวชนเอาอย่าง



หวั่นเยาวชนเอาอย่าง


        จากปรากฏการณ์ผู้สาวขาเลาะ "ลำไย ไหทองคำ" ทำเอาท่านนายกรัฐมนตรีทนไม่ได้ต้องออกมาติงถึงความเหมาะสมและห่วงเรื่องการเอาอย่างของเยาวชน

        ในสายตาของผู้เขียนนับเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้นำกระโดดมาให้ความสำคัญกับเรื่องในระดับชาวบ้าน นอกเหนือการบริหารบ้านเมืองซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งอยู่แล้ว


        ความจริงหากไปดูในสื่อหลาย ๆ ประเภท เช่น YOUTUBE ยังมีเรื่องที่น่าห่วงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวของเยาวชน การใช้คำหยาบคายในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการนำเสนอเรื่องเพศในรูปแบบต่าง ๆ หากท่านนายกฯได้เข้าไปดูก็คงจะเห็น


   อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็คิดว่ายังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าและคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในระดับชาติ ระดับประเทศคือ ห่วงเรื่องเด็กจะเอาอย่างความเจ้าอารมณ์ของผู้นำและที่สำคัญวันข้างหน้าเยาวชนจะเอาอย่างหรือไม่ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว หากไม่พอใจก็จะพากันหาทางฉีกรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นกันในปัจจุบัน

      ว่าแต่เรื่องนี้ท่านนายกฯ มีความเห็นอย่างไรครับ?






อนาคาริก
06/19/17