Monday, January 30, 2017

ข้าราชการกับจริยธรรมพื้นฐาน



ข้าราชการกับจริยธรรมพื้นฐาน
        ในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างที่กระทบความรู้สึกของคนไทยหมู่ใหญ่ จนกระทั่งมีการเรียกร้องให้ทบทวนถึงจริยธรรม คุณธรรมของข้าราชการ

         คำถามที่ตามมาคือ อะไรจะเป็นตัววัดถึงคุณธรรม จริยธรรมดังกล่าว

         คำตอบของแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกัน ตามความรู้สึกหรือความคุ้ยเคยกับเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งการมองปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ต่างกันออกไป


         ในมุมมองของผู้เขียนในฐานะของผู้นับถือพระพุทธศาสนา มองว่าจริยธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือคนในอาชีพไหนก็ตาม ตัววัดที่ชัดเจนถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์แท้จริงแล้วคือ ศีล ๕

         เพราะการละเมิดหรือไม่ได้รักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติ ทำให้เกิดเรื่องราวที่สะเทือนขวัญบ้าง ก่อให้เกิดความอับอายบ้าง หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนในสังคมบ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพสักนิด


         เพราะการไม่รักษาศีลข้อ ๑ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต เราจึงพบว่า มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีฆ่าคนตาย เช่น คดีอุ้มฆ่าสาวทอม


         เพราะการไม่รักษาศีลข้อ ๒ คือ เว้นจากการลักทรัพย์ จึงมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับรองอธิบดี ไปขโมยภาพที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เป็นที่อับอายขายหน้าเป็นอย่างยิ่ง


         เพราะการไม่รักษาศีลข้อ ๓ คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม จึงมีข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว มีภริยาหลายคน บางท่านก็เป็นข่าวใหญ่โต ถึงกับภริยาหลวงออกมาตัดพ้อต่อว่า ทั้งที่เรื่องนี้นอกจากจะผิดศีลแล้ว ยังผิดวินัยข้าราชการด้วย


         เพราะการไม่รักษาศีลข้อ ๔ คือ เว้นจากการพูดเท็จ จึงทำให้ข้าราชการอาศัยอำนาจที่ตนมีอยู่ หาเรื่องราษฎรได้ ล่าสุดแม้กระทั่งพระยังถูกตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรม แล้วยังให้การที่เป็นเท็จอีก ก็คงต้องดูกันว่า เมื่อถึงเวลาขึ้นศาล แล้วต้องกล่าวคำสาบานว่า จะให้การไปตามความเป็นจริง จะให้การว่าอย่างไร ที่แน่ ๆ คำพูดที่สาบานสาปแช่งตนเองไว้ ผลนั้นจะย้อนกลับมาหาแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว ผู้เขียนเห็นตัวอย่างมาหลายรายแล้ว ขอยืนยัน


        ส่วนศีลข้อ ๕ คือ เว้นจากการเสพของมึนเมา อันนี้คงไม่ต้องหาตัวอย่างมาอธิบายประกอบอะไร เพราะเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่แล้วว่า เมื่อมีการสังสรรค์ในวงราชการ ก็หนีไม่พ้นจากเรื่องเหล้ายาปลาปิ้ง


         จากจุดเริ่มต้นของการไม่รักษาศีล ๕ ดังกล่าว จะนำมาซึ่งความผิดที่ใหญ่ขึ้น จนถึงการทุจริตระดับชาติ ยิ่งมีตำแหน่งสำคัญ ใหญ่โตมากเท่าไร หากขาดคุณธรรมแล้ว โอกาสที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อการทุจริต รวมทั้งหาผลประโยชน์ ปกป้องสมาชิกในครอบครัวตนเองก็จะยิ่งมีสูงขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่สนใจว่าสังคมหรือประเทศชาติจะเดือดร้อนอย่างไร


         ดังนั้นหากต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องทุจริต คดโกง จริง ๆ แล้ว อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องอะไรที่ไกลตัวมากนัก ให้ย้อนกลับมาทำแบบสอบถามตนเองว่า ณ วันนี้ มีศีล ๕ ครบถ้วนแล้วหรือยัง ลองให้คะแนนศีลแต่ละข้อเป็น ๒๐ คะแนน หากครบทั้ง ๕ ข้อ ก็จะได้ ๑๐๐ คะแนน นั่นแสดงถึงความเป็นคนที่สมบูรณ์ แต่หากขาดไปมากเท่าไร ความเป็นคนก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ

         ขอให้ข้าราชการทุกท่านได้ลองทำดู แล้วท่านจะได้คำตอบว่า


ท่านเป็นข้าราชการที่มีจริยธรรมหรือไม่?







อนาคาริก
01/30/17

Wednesday, January 25, 2017

กระดุมเม็ดแรกจะติดผิดหรือไม่...ใครกำหนด



กระดุมเม็ดแรกจะติดผิดหรือไม่...ใครกำหนด
         เนื่องจากบ้านเมืองเราใช้ระบบกล่าวหาซึ่งอาจมีหลายท่านยังสงสัยว่า ระบบกล่าวหาคืออะไร ก็ขอกล่าวโดยสรุปว่า ระบบกล่าวหามีลักษณะสำคัญคือ ศาลมีบทบาทจำกัดเป็นเพียงผู้ตัดสินคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสืบพยานเพิ่มเติมหรือช่วยคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสวงหาพยานหลักฐาน แม้ว่าจะมีกฎหมายบางมาตราระบุให้อำนาจศาล แต่ศาลก็มักจะไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมีคดีเกิดขึ้น จึงเริ่มต้นโดยการมี

         ๑. ผู้แจ้งความหรือผู้ร้องทุกข์

         ๒. ผู้ถูกแจ้งความหรือผู้ต้องหา

         ๓. ข้อหาหรือความผิดที่ผู้ต้องหาได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ


         เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีบุคคลสำคัญที่หนีไม่พ้นจะต้องรับผิดชอบในการติดกระดุมเม็ดแรกก็คือ พนักงานสอบสวน

         ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงต้องเป็นบุคคลที่แม่นในตัวบทกฎหมาย คือ ต้องเข้าใจในองค์ประกอบของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เช่น การตั้งข้อหาว่าหญิงสาวสองคนซึ่งมีหน้าที่การงาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ตั้งใจสร้างบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ว่ากระทำความผิดอั้งยี่ ซ่องโจร ยุยงปลุกปั่น ทำให้เป็นภัยต่อความมั่นคง เหล่านี้มันสมควรหรือไม่ ก็ต้องไปแยกองค์ประกอบให้ชัดเจนว่าอั้งยี่ ซ่องโจรหรือการยุยงปลุกปั่นนั้น มีองค์ประกอบอย่างไร


         หรือการไปตั้งข้อหาพระว่าไปขัดขวางเจ้าพนักงานทั้งที่ท่านเข้าไปสอบถามว่ามาทำอะไรดึกๆ ดื่นๆ อย่างนี้ก็ต้องไปศึกษาเช่นกันว่า มันจะเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ก็ต้องถามว่าหากมาโดยไม่ได้แสดงตัว ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จะเข้าองค์ประกอบหรือไม่


         หรือแม้รายละเอียดในคดีก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องของครูแพะ หากเป็นจริงตามที่ปรากฏในข่าวว่า ในสำนวนการสอบสวน ไม่มีการระบุว่าผู้ที่ขับรถชนมอเตอร์ไซด์ เป็นหญิงหรือชาย เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ถือว่าพลาดมาก เพราะรายละเอียดของผู้กระทำความผิด เป็นประเด็นสำคัญของคดี ยิ่งมีรายละเอียดมากเท่าไร ยิ่งจะทำให้หาตัวผู้กระทำความผิดได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติว่า หากมีการทำผิดเกิดขึ้น โดยหลักก็ต้องสอบถามรูปพรรณ สัณฐานของผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัย เป็นต้น


         ดังนั้นในการติดกระดุมเม็ดแรก บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบคือ พนักงานสอบสวน จึงต้องระมัดระวังในการใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องที่สุด มิฉะนั้นเราคงจะได้เห็น “ แพะ” เต็มบ้านเต็มเมืองกันต่อไป


         ที่สำคัญคือ จะต้องปฏิบัติการ “ตามหน้าที่” ไม่ใช่ “ตามใบสั่ง” เพราะการติดกระดุมเม็ดแรกผิดจะส่งผลร้ายอย่างมหันต์ต่อผู้ต้องหา โดยเฉพาะตาสีตาสา ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่มีอิทธิพลที่จะหาคนมารับผิดแทนได้ นอกจากต้องสูญเสียอิสรภาพแล้ว ยังต้องเสียความยอมรับนับถือ เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม เสียหายต่อหน้าที่การงาน รวมทั้งความทุกข์ที่เกาะกุมจิตใจจากการถูกตราหน้าว่า “ไอ้ขี้คุก”


         จงเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้วพนักงานสอบสวนจะรู้ว่า ควรจะติดกระดุมเม็ดแรกอย่างไร






อนาคาริก
01/25/17

Friday, January 20, 2017

ระบบกล่าวหา...เครื่องมือของใคร



ระบบกล่าวหา...เครื่องมือของใคร


         “มึงก็รู้ ประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา มึงก็แจ้งความมันไปก่อน ให้มันไปแก้ตัวที่ศาลโน่น”

         จากวาทะของนายตำรวจใหญ่ท่านหนึ่ง คงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด แนวทาง และวิธีการทำงานของตำรวจได้เป็นอย่างดี

         ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักจะเกิดเรื่อง “แพะ” อยู่เสมอ

         และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากเมื่อใดที่ “แพะ” ขอให้รื้อฟื้นคดีแล้ว ตามสถิติตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ไม่เคยเกิดคดีพลิกว่า “แพะ” จะกลับมาชนะเลย


         ไม่ต้องคิดอะไรให้ยากเย็น ในต่างจังหวัดยิ่งห่างไกลตัวเมืองไปมากเท่าไร อย่าว่าแต่เป็นตำรวจเลย แค่เป็นข้าราชการอะไรสักอย่าง ชาวบ้านก็กลัวแล้ว ชาวบ้านไปตามโรงพยาบาล ไปติดต่อที่อำเภอ เจอพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่พูดเสียงดังหน่อย เขาก็ตัวสั่นงันงกแล้ว

         ยิ่งคนที่เป็นพยาน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ เอาว่า กำลังนั่งทานข้าวกับลูก เมีย อยู่ จู่ ๆ มีตำรวจมาถามด้วยความห่วงใยว่า “กินข้าวกับลูกเมีย อร่อยไหม หากยังอยากกินข้าวกับลูกเมียอยู่ ไอ้ที่เคยให้การไว้อย่างไรก็เปลี่ยน ๆ มั่งก็ได้นะ” แค่นี้ พยานที่ไหนจะกล้าขัดใจหละครับท่าน


         จากคดีของครูแพะ ซึ่งตอนนี้กำลังเข้มข้น เพราะเป็นการเดิมพันกันด้วยหน้าที่การงานของครู กับศักดิ์ศรีของตำรวจ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลจะออกมาอย่างไร เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถือว่า ตนเองมีพยานหลักฐานอย่างดี


         เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้เขียนได้สนทนากับพระรูปหนึ่งที่วัดใหญ่แถวปทุม ท่านเล่าว่า ตัวท่านก็ไม่ได้จบกฎหมาย เลยงงว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้เขียนขอให้ท่านเล่ารายละเอียดให้ฟัง ก็พลอยงงไปกับท่านด้วย จะไม่งงได้ไงครับ ผู้อ่านลองพิจารณาตามนะครับ พระเพื่อนของท่าน เห็นมีคนมาทำอะไรตรงเสาไฟฟ้า เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา ก็เลยเข้าไปสอบถาม ก็บอกว่าเป็นช่างไฟฟ้า พระรูปนั้นท่านก็สงสัยว่าช่างไฟอะไรมากลางค่ำกลางคืน พอจะซักถาม ก็รีบไปขึ้นรถจะขับออกไป ก็เลยมีการเข้าไปขอให้จอดรถเพื่อซักถาม ซึ่งก็ไม่ได้มีการขัดขวางหรืออะไร คุยกันเสร็จก็แยกกันไป


         วันรุ่งขึ้นมีหมายเรียกมาถึงพระรูปนั้นว่าตกเป็นผู้ต้องหาคดีต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน(ตำรวจ) ท่านก็เห็นว่าตัวเองบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ก็เลยเข้าไปตามหมายเรียก ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกัน ส่งตัวไปที่ศาล และคัดค้านการประกันตัว หาว่าท่านเป็นผู้มีอิทธิพล เดชะบุญที่ศาลท่านมีความเที่ยงธรรม จึงให้ประกันตัว มิฉะนั้น ท่านจะต้องถูกจับสึก เพราะต้องเข้าห้องขัง เรื่องนี้ก็เป็นที่ฮือฮาในหมู่ชาววัดที่รู้กฎหมาย แต่ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคนี้อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้


         ล่าสุดก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการออกหมายจับสาธุชนที่มาวัดใหญ่แถวปทุม ให้ข้อหาซะน่ากลัว คือ อั้งยี่ ซ่องโจร ยุยงปลุกปั่น รายละเอียดก็แล้วแต่ฉบับไหนจะมีข้อมูลมากกว่ากัน แต่รวม ๆ แล้ว ก็คงจะสรุปได้ว่า หาข้อหาให้หนักขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ให้ไปแก้ตัวในศาลก็แล้วกัน


         แน่นอนว่า เรื่องคดีต่าง ๆ คงจะไม่จบง่าย ๆ เพราะ “ธง” ยังไม่ลด และยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ผู้มีอำนาจต้องการ แต่ยิ่งนานวันเข้า สิ่งที่จะกระจ่างชัดขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว


ระบบกล่าวหาก็คือ เครื่องมือของผู้มีอำนาจนั่นเอง





อนาคาริก
01/21/17

Thursday, January 12, 2017

จะให้มีเหตุการณ์แบบนี้...อีกกี่ครั้ง



จะให้มีเหตุการณ์แบบนี้...อีกกี่ครั้ง


         วันนี้เป็นวันส่งร่างของน้องมะปิน ผู้เป็นที่รักของพระอาจารย์ ญาติมิตร และเพื่อนฝูง สังเกตได้จากผู้มาร่วมงานศพมีจำนวนมากจนล้นพื้นที่วัดกลาง คลองสาม ที่จอดรถแน่นขนัดจนหาที่จอดได้ยาก


         ผู้เขียนประทับใจคำพูดของคุณแม่น้องมะปินมาก ที่อาศัยการเข้าวัดทำให้เข้าใจเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม จึงไม่คิดอาฆาต พยาบาทกับผู้ที่ทำร้ายลูกชายสุดที่รักจนถึงแก่ชีวิต


         ในมุมมองของผู้เขียน อย่างไรก็ยังมองว่า ความจริงแล้วคนทุกคนเกิดมาล้วนมีพื้นฐานที่ดีติดตัวมา แต่เนื่องจากกำลังบุญที่ต่างกันจึงทำให้ไปเกิดในครอบครัว สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป


         น้องมะปินมีบุญมาก จึงได้ไปเกิดในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างดี ทำให้มีสัมมาทิฏฐิ รู้จักการสั่งสมบุญตั้งแต่ยังเยาว์วัย

 
         ในขณะที่ผู้ร้ายคือ นายตั้ม ไม่มีโอกาสดี ๆ อย่างนั้น จึงตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตรงกันข้าม

         เมื่อผู้เขียนเห็นรายละเอียดชีวิตของเด็กหนุ่มทั้งคู่ ต้องตกตะลึงอยู่ชั่วขณะ เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ตรงกัน แต่ต่างกันเหลือเกิน ลองดูตัวอย่างกันสักนิด


         เรื่องราวของน้องมะปินและนายตั้ม เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม คงมีสิ่งที่เกิดขึ้นอีกมากมายหลายเรื่องที่สังคมไม่สามารถรับรู้ได้

         จะมีใครสักคนในคณะรัฐบาลที่หยุดคิดถึงเรื่องนี้จริง ๆ จัง ๆ หรือไม่ อย่าให้เหตุการณ์นี้ผ่านเลยไป เพียงเพราะไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวของท่าน

         จงให้เวลา ให้ความสำคัญมาคิดถึงการพัฒนาคน พัฒนาเยาวชนอย่างจริงจัง เพราะคำพูดหรือคำขวัญที่สวยหรู คงไม่สามารถทำให้คนเป็นคนดีได้

         แม้ชาววัดจะทำใจได้ และเข้าใจเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

         ขอให้เรื่องของน้องมะปินเป็นกรณีศึกษา และอย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลยนะครับ






ขอขอบคุณภาพจาก เพจน้องแสนดี, google.com
อนาคาริก
01/12/17

Wednesday, January 11, 2017

กฎหมายกับความยุติธรรม


กฎหมายกับความยุติธรรม


         เมื่อตอนที่เรียนกฎหมาย อาจารย์ได้บอกกับนักศึกษาว่า กฎหมายคือเครื่องมือที่ทำให้เกิดความยุติธรรม


         เมื่อเรียนจบ ผู้เขียนก็เริ่มต้นเป็นทนายฝึกหัด คำที่อาจารย์สอนก็ยังก้องอยู่ในโสตประสาท จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ความเชื่อมั่นในคำสอนของอาจารย์เริ่มคลอนแคลน เพราะได้พบว่า แม้กฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความยุติธรรมก็จริง แต่หากกฎหมายนั้น ตกไปอยู่ในมือของคนพาล ก็กลายเป็นว่า กฎหมายนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์


        ล่าสุดชีวิตของครูคนหนึ่งต้องพบกับความลำบากแสนสาหัส ถูกสังคมประณาม ลูกหมดโอกาสเล่าเรียน เพียงเพราะระบบในกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดความผิดพลาดได้ขนาดนี้

        จากครูที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว แค่ตำรวจจำทะเบียนรถผิดพลาด ต้องเข้าไปอยู่ในคุกถึง ๑ ปี ๖ เดือน ถูกสังคมตราหน้าว่าฆ่าคนตาย แม้ออกจากคุกแล้ว ก็ยังไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ดังเดิม กว่าจะผ่านการอนุมัติก็ต้องใช้เวลา


         ใครจะรับผิดชอบชื่อเสียงที่ถูกทำลายจากความมักง่ายของเจ้าหน้าที่

        ใครจะรับผิดชอบอนาคตของลูกของครูท่านนี้ ที่แม้จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่มีทุนเรียน

         ใครจะรับผิดชอบความทุกข์ ความเศร้าโศก เสียใจที่ต้องแบกรับจากการติดคุก


         เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วใช่หรือไม่ ใครจะให้คำตอบได้

        จะมีเจ้าหน้าที่คนไหนกล้ายืนยันหรือไม่ว่า ในการดำเนินคดีต่าง ๆ ไม่มีนอกมีใน ไม่มีใบสั่งหรือไม่มีอคติใด ๆ ทั้งสิ้น

        หากมี ช่วยก้าวออกมาให้ผู้เขียนได้เห็น อย่างน้อยจะได้ชื่นใจว่า ผู้ที่คิดจะพิทักษ์ความยุติธรรมยังมีอยู่จริงในโลกนี้ จะได้กอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้เขียนว่า

กฎหมายคือเครื่องมือที่ทำให้เกิดความยุติธรรม



อ่านเรื่องของคุณครูได้จาก http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000003514

อนาคาริก
01/11/17

Monday, January 2, 2017

ร้ายกว่าเสพติดศัลยกรรม



ร้ายกว่าเสพติดศัลยกรรม


        ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่า "เสพติดศัลยกรรม" ซึ่งหมายถึงคนที่ไปตกแต่งใบหน้า หรืออวัยวะในร่างกายให้ได้ดังใจปรารถนา จากเดิมก็ทำเพียงนิดหน่อย แล้วไม่พอใจก็เริ่มทำเพิ่มไปเรื่อย ๆ แก้โน่นนิด แก้นี่หน่อย ทำบ่อยเข้า ๆ จนติดเป็นนิสัย กลายมาเป็นการเสพติดศัลยกรรมไป



        แม้จะมองว่าการเสพติดศัลยกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ปกตินัก แต่อย่างไรก็ยังมีผลเพียงแค่ตัวของผู้กระทำเอง ซึ่งอาจจะมีผลต่อสุขภาพหรือทรัพย์สิน แต่ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อส่วนรวมมากนัก


        แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกิดการเสพติดเข้าไปแล้ว มีผลกระทบในวงกว้างอย่างมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ตนเอง แต่กระจายไปถึงประเทศชาติ หรือระดับโลกทีเดียว นั่นคือ

การเสพติดอำนาจ

         การเสพติดอำนาจนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นมาวันสองวันนี้ แต่มีเรื่องราวที่น่าคิดได้เกิดขึ้นมานานแล้ว  ตั้งแต่ยุคต้นกัปสมัยที่พระโพธิสัตว์เจ้าของพวกเราได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ชื่อ มันธาตุราช

         พระองค์มีความพร้อมบริบูรณ์ รวมทั้งมีรัตนะ ๗ เป็นของคู่บุญ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พอใจ จึงขยายอำนาจไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่ได้ไม่นานก็รู้สึกว่า แค่นี้ก็ยังไม่พอ จึงขยายอำนาจต่อไปถึงดาวดึงส์ ท้าวสักกะ ก็แบ่งอำนาจให้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กึ่งหนึ่ง
 
        แต่แล้วเรื่องของอำนาจก็ไม่เข้าใครออกใคร ในที่สุดก็คิดจะครอบครองคนเดียวทั้งหมด คิดไปคิดมาจนร่างกายซูบผอม หมดบุญ ตกสวรรค์ลงมาในอุทยานของพระองค์ ก่อนสวรรคตก็ได้คิด จึงเรียกผู้คนมาฟังเรื่องราวและให้ข้อคิดว่า อย่าทะยานอยากในกามคุณ อย่าตกเป็นทาสของตัณหา ให้ปล่อยวาง มุ่งตรงต่อพระนิพพาน


        ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า เนื่องจากเริ่มมีกระแสข่าวออกมาเป็นระลอกถึง เรื่องเลื่อนการเลือกตั้ง จากเดิมกำหนดว่าจะให้มีในต้นปี ๒๕๖๐ จนมีบทเพลงว่า

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...”

        ดังนั้นหากจะขอเลื่อนไปอีกเป็นปี ๒๕๖๑ ก็คงจะถือว่า ทำตามสัญญาอยู่กระมังครับ ก็คงต้องมาตีความกันว่า คำว่า “ไม่นาน” นี่จะมีระยะเวลาสักแค่ไหน ที่ต้องถามเพราะสงสารเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวนทั้งหลาย จากยางราคา กิโลละ ๑๒๐ ลงมาเหลือ กิโลละ ๓๐ บาทกว่า หากอยู่นานกว่านี้ ผู้เขียนเกรงว่า ราคายางจะไม่เหลือ


        ต่างชาติเขาก็จับตามองหลายเรื่อง เพราะล้วนแล้วแต่จ้องจะจำกัดสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการออก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพื่อเหตุผลอันสวยหรู แต่จริง ๆ ก็รู้อยู่แก่ใจว่าเพื่ออะไร หรือแม้กระทั่งการรุกล้ำทางศาสนจักร ราวกับว่าจะให้พระพุทธศาสนาหมดไปจากแผ่นดิน

        ก็ได้แต่หวังว่างานนี้คงจะไม่เกิดการเสพติดอำนาจกันนะครับ เพราะอย่างที่พาดหัวไว้แหละว่า


        การเสพติดอำนาจนั้น มันมีผลเสียมากกว่าเสพติดศัลยกรรมไม่รู้กี่เท่า




อนาคาริก
01/02/17

Sunday, January 1, 2017

ตรรกะน่าพิศวง




ตรรกะน่าพิศวง

            มีเรื่องให้พวกเราช่วยกันพิจารณา


เรื่องที่ ๑

           มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ได้นำกบมาสังเกตดูพฤติกรรม เห็นกบชอบกระโดดเวลาได้ยินเสียงดัง ๆ เขาจึงสั่งให้กบกระโดด กบก็กระโดดไป ต่อมาเขาตัดขากบออก ๑ ขาแล้วสั่งให้กบกระโดดกบก็กระโดด เขาจึงตัดขากบออกอีกเรื่อยๆจนเหลือ ๑ ขา เขาก็สั่งให้กระโดด กบก็กระดึ๊บไปได้นิดเดียว และเมื่อเขาตัดขากบออกทั้ง ๔ ข้าง แล้วก็สั่งให้กระโดด กบก็ไม่กระโดดเพราะไม่มีขา แต่นักวิทยาศาสตร์คนนั้นสรุปผลการทดลองว่า

“กบเมื่อโดนตัดขาออกทั้ง ๔ ข้าง จะทำให้หูหนวก”


เรื่องที่ ๒

            มีผู้หญิงของประเทศหนึ่ง มักจะถูกเจ้าหน้าที่ที่อเมริกาจับได้ว่าไปขายตัว เมื่อจับได้มากเข้า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจึงเข้มงวดกับผู้หญิงประเทศนั้น โดยเฉพาะที่มากันเป็นกลุ่ม เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่า

"ผู้หญิงประเทศนั้นจะมาขายตัว"


           ทั้งสองตัวอย่างนี้คิดว่าทุกคนต้องค้านแน่นอนว่า เป็นความคิดที่ผิด เป็นการสันนิษฐานที่ไม่ถูกต้อง


ลองดูตัวอย่างเรื่องที่ ๓

           มีชายคนหนึ่ง ไม่เคยบวชเลย ออกมาพูดว่า พระบางรูปไม่ดี สมควรที่จะต้องมีการปฏิรูปวงการสงฆ์

           ประเด็นนี้สังคมกลับยอมรับได้ ไม่มีใครออกมาคัดค้าน

ทั้งที่ความจริงแล้วต้องพิจารณากันหลายด้าน เช่น

            ๑. พระทั้งประเทศมีถึง ๓๐๐,๐๐๐ รูป ที่บอกว่าไม่ดีนั้น คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซนต์ของทั้งหมด หากคนไทยไม่กี่คน เป็นคนไม่ดี แล้วจะเหมารวมว่าคนไทยทั้งประเทศไม่ดีอย่างนั้นหรือ

            ๒. พระภิกษุก็คือ ลูกชาวบ้าน ที่มาบวชเพื่อหวังฝึกตัว ก็ย่อมจะมีผิดพลาดบ้าง ก็ต้องช่วยกันประคับประคอง ให้คำแนะนำกันไป

            ๓. พระที่ดีก็มีอยู่ แต่ที่มองไม่เห็นหรือทำเป็นไม่เห็น เพราะมีอคติบังตาหรือมีใบสั่งมา

           ๔. เพราะการที่ไม่เคยบวช  จึงไม่เข้าใจว่าชีวิตของนักบวชว่าเป็นอย่างไร เลยเอาความรู้สึกของตนเองไปวัดว่า ผู้ที่บวชมาต้องแสวงหาลาภ สักการะ ต้องทุจริตคดโกง

           ส่วนพระดี ๆ ที่ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแม้มีอยู่ ก็มองไม่ออก เพราะไม่เคยสัมผัสว่าชีวิตของพระที่เขามีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนนั้นมีอยู่

ฯลฯ



           การที่เรามองอะไรโดยไม่เคยเข้าไปสัมผัส แล้วไปวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ เปรียบเสมือนกับการทำวิทยานิพนธ์สักเล่ม แต่ไม่เคยลงไปสัมผัส ไปหาข้อมูลที่แท้จริง

            หากเราไม่เคยเป็นทหาร ตำรวจ แพทย์หรืออาชีพอื่น ๆ ต่อให้ดูภาพยนตร์ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น เป็นร้อย เป็นพันเรื่อง ก็ใช่ว่าเราจะเข้าใจชีวิตของเขาได้


            แม้ที่สุดที่ชายคนนั้นบอกว่า ได้ทำหน้าที่ของอุบาสกอย่างสง่างามนั้น ก็คงจะต้องไปศึกษาสักนิดว่า คำว่า อุบาสก ในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเช่นไร ได้ทำตัวให้เป็นอุบาสกอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่

           ที่แน่ ๆ ผู้เขียนมั่นใจว่า อุบาสก น่าจะไม่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการเป็นกบฎอย่างแน่นอน





อนาคาริก
01/01/17